เสี่ยง-ไม่เสี่ยง ก็ต้องตรวจเอชไอวี
ไม่มีใครที่ไม่รู้จักเชื้อเอชไอวี (HIV) แม้ปัจจุบันนี้ข่าวคราวเกี่ยวกับโรคเอดส์จะเงียบหายไป แต่จำนวนผู้ติดเชื้อตอนนี้กลับไม่ได้เงียบหายตามข่าว ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ จึงร่วมกันส่งเสริมให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับเชื้อโรคตัวนี้ ไม่ว่าคุณจะมีพฤติกรรมเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง ยังไงเราก็แนะนำว่าทุกคนควรต้องตรวจเอชไอวีอยู่ดี
แม้ว่าหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนจะแข็งขันเดินหน้ารณรงค์และส่งเสริมความรู้มากสักเพียงใดก็ตาม แต่ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็ยังคงเกิดใหม่และมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกวัน
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข เผยว่า จากการคาดประมาณผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทย โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ Spectrum-AEM คาดว่าในปี 61 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ประมาณ 6,400 คน (เฉลี่ยวันละ 17 คน) ผู้เสียชีวิตเนื่องมาจากเอดส์ 18,000 คน (เฉลี่ยวันละ 49 คน) และมีผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 480,000 คน ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปีเดียวกัน พบว่ามีผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตอยู่ซึ่งได้รับการวินิจฉัย หรือรู้สถานะว่าตนเองติดเชื้อแล้ว 451,384 คน ดังนั้น คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีอีกประมาณ 28,000 คน ที่ยังไม่รู้สถานะการติดเชื้อ และยังไม่ได้รับการรักษา ที่สำคัญคือสามารถส่งถ่ายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว
เสี่ยง-ไม่เสี่ยง ก็รอบคอบไว้ 5 สเต็ป ไม่เจ็บ แต่จบ
- ตรวจเลือดเป็นประจำทุก 3-12 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์หรือความถี่ในการสัมผัสสารคัดหลั่ง… “ทุกวันนี้ เอชไอวี ตรวจฟรี ตรวจเร็ว โดยให้คนไทยที่มีบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก สามารถตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ทุกโรงพยาบาลที่ให้บริการภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้สามารถตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้รวดเร็วและแม่นยำ และควรตรวจหาเชื้อเอชไอวีหลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ไม่สวมถุงยางอนามัยหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ประมาณ 1 เดือน เมื่อทราบผลว่าไม่ติดเชื้อเอชไอวี จะได้รับการปรึกษาเรื่องการป้องกัน การติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ต่อไป หากพบการติดเชื้อเอชไอวี จะได้เข้ารับการรักษาโดยเร็ว”
- เอชไอวี รู้เร็ว ยังมีโอกาสใช้ชีวิตได้ปกติ แต่หากเข้ารักษาล่าช้า จะเริ่มป่วยและมีอาการของโรคแทรกซ้อนตามมา ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่ำ เกิดโรคเรื้อรังได้ง่าย แล้วเชื้อเอชไอวีในร่างกายจะเพิ่มขึ้น จนถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปสู่คู่และผู้อื่นได้
- สำหรับผู้ที่ทราบถึงภาวะการติดเชื้อแล้ว ไม่ต้องกังวลและเครียดจนเกินเหตุ แต่จำเป็นต้องรักษาสุขภาพร่างกาย ไปพร้อมกับสภาพจิตใจที่ดี สุขภาพจิตส่งผลต่อร่างกายและตัวโรคทุกโรคอย่างมีนัยยะ ดังคำที่มีคนกล่าวว่า ‘ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว’ ระหว่างการบำบัดรักษา จำเป็นจะต้องดูแลจิตใจของตนเอง รวมถึงคนใกล้ชิดจำเป็นต้องให้กำลังใจ และให้ความหวังต่อผู้ติดเชื้อในการดำรงชีวิตต่อไป
- ดูแลร่างกายสม่ำเสมอ กินอิ่ม นอนหลับ กินอาหารดีมีประโยชน์ และพักผ่อนเพียงพอ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ร่างกายต้องการ เหมือนกับทุกๆ โรค เมื่อป่วยก็ต้องการการเยียวยา และฟื้นฟู ไม่ลืมเสริมด้วยการออกกำลังกายพอเหมาะ ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับสมรรถภาพของแต่ละคน
- อาหารเสริมและวิตามินที่ช่วยเพิ่ม ซีดีโฟร์ และฟื้นฟูกำลังกาย ปัจจุบันวิตามินและอาหารเสริมในท้องตลาด อาจมีให้เลือกมากมาย แต่จำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบและความน่าเชื่อถือ ควบคู่ไปกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในแต่ละบุคคล