การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนขององค์กรบริษัทฯ แบ่งกิจกรรมการดำเนินการหลักได้ดังนี้
การดำเนินการตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม
บริษัทฯ มุ่งเน้นในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้เติบโตยั่งยืนควบคู่ไปกับธุรกิจจึงกำหนดแนวทางให้กิจกรรมทางธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่าดำเนินไปโดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้น้อยที่สุด รวมทั้งร่วมส่งเสริมกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังยึดมั่นในการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบท้องถิ่น และมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติในการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วยตระหนักว่า การส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการรักษาสมดุลของระบบนิเวศนับเป็นภารกิจร่วมของทุกภาคส่วน อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน หุ้นส่วนธุรกิจ และชุมชนท้องถิ่น อีกด้วย
พลังงานเป็นสิ่งจำเป็นในภาคอุตสาหกรรมและมีแนวโน้มการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจำนวนประชากรและกิจกรรมการบริโภค อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก บริษัทฯ จึงมีนโยบายในการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปรับปรุง ปรับเปลี่ยน และพัฒนากระบวนการผลิต (PROCESS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการผลิต ลดการสูญเสียพลังงานในทุกกิจกรรมและกระบวนการผลิต รวมทั้งบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการดำเนินธุรกิจ
โครงการพลังงานทดแทน
APCO เพิ่มช่องทางในการมีส่วนร่วมลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Footprint) และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมาย Net Zero Emissions ซึ่งเป็นวาระสำคัญของชาติและของโลก โดยจัดทำแผนโครงการพลังงานทดแทนขึ้นในช่วงปลายปี 2565 และดำเนินการจนกระทั่งแล้วเสร็จตามแผนในเดือนเมษายน 2566
โครงการพลังงานทดแทนเป็นโครงการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและสามารถนำกลับมาหมุนเวียนเพื่อการใช้งานได้อย่างไม่จำกัดให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดย APCO ลงทุนติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ขนาด 100 kW บนหลังคาอาคารโรงงาน มีผลให้ APCO สามารถลดการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ลดลง 30-40% เมื่อเทียบกับปี 2565) อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจากภาวะโลกร้อน (Global Warming) และวิกฤตปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว (Climate Change) ได้อย่างยั่งยืน
การบริหารจัดการอื่นๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- การรณรงค์ส่งเสริมการนำวัสดุกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล โดยเฉพาะวัสดุสิ้นเปลืองหลักของบริษัทฯ ได้แก่ กระดาษ ที่จะนำมาใช้ให้ครบทั้งสองหน้าก่อนนำมาย่อยเพื่อใช้เป็นวัสดุกันกระแทก
- การรณรงค์ให้ยกเลิกการจัดเก็บเอกสารแบบ Hard Copy เป็นการสแกนจัดเก็บแบบ Soft File
- การเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับมาตรฐานประหยัดไฟเบอร์ 5, ฉลากเขียว
- การปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศา มีการกำหนดให้ปิดเครื่องปรับอากาศในเวลาพัก และไม่เปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงอากาศหนาว
- การทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศของเครื่องปรับอากาศอยู่เสมอ
- การปิดไฟในโรงงาน ในจุดที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้และเวลาพักเที่ยง
- การเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอดประหยัดพลังงาน และทำความสะอาดหลอดไฟอยู่เสมอ
- การใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ
- การนำเศษกิ่งไม้ ใบไม้แห้ง มาทำปุ๋ย โดยใช้เครื่องย่อยสลายเศษกิ่งไม้ ใบไม้
- การเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยการปรับปรุงและดูแลทัศนียภาพของที่ทำงาน
บริษัทฯ มีเป้าหมายสำคัญในการใช้พลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมุ่งลดการใช้พลังงาน และปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานในชีวิตประจำวันของพนักงานมาตลอด เพราะไม่เพียงก่อให้เกิดประโยชน์ในระดับองค์กรในการลดต้นทุนการผลิตที่สำคัญ ยังเกิดการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วม และการร่วมรักษาสภาพแวดล้อมอีกด้วย โดยในปี 2566 บริษัทฯ มีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าและก๊าซ LPG ดังนี้
ผลการดำเนินงาน
2566 | 2565 | 2564 | 2563 | 2562 | |
---|---|---|---|---|---|
ปริมาณการใช้ไฟฟ้า (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) | 205,828 | 295,624 | 274,836 | 292,780 | 281,840 |
ปริมาณการใช้ก๊าซ LPG (Kg.) | 8,655 | 5,835 | 4,365 | 6,543 | 5,007 |
บริษัทฯ ตระหนักถึงความเสี่ยงจากวิกฤติการขาดแคลนทรัพยากรน้ำที่นับวันจะรุนแรงและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีนโยบายปลูกฝังให้พนักงานใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและมีมาตรการประหยัดน้ำ โดยนำหลักการ 3R ได้แก่ การลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต (Reduce) การนำน้ำมาใช้ซ้ำ (Reuse) และ การนำน้ำหลังผ่านการบำบัดกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) มาปรับใช้ตามความเหมาะสมกับองค์กร น้ำประปาที่บริษัทฯ ใช้ทั้งหมดเป็นน้ำประปาที่ผลิตโดยบริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ที่ส่งจ่ายน้ำให้แก่บริษัทลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ โดยในปี 2566 บริษัทฯ มีปริมาณการใช้น้ำประปาเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการรั่วซึมของท่อน้ำประปาในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำการตรวจสอบแล้วซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว
ผลการดำเนินงาน
2566 | 2565 | 2564 | 2563 | 2562 | |
---|---|---|---|---|---|
ปริมาณการใช้น้ำ (ลูกบาศก์เมตร) | 6,545 | 4,193 | 5,334 | 4,245 | 9,660 |
บริษัทฯ มีนโยบายการจัดการของเสียแบบผสมผสาน (Integrated Waste Management) ตามลักษณะของของเสีย และเป็นไปตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุุนเวียน (Circular Economy) เริ่มตั้งแต่การลดการเกิดของเสียที่แหล่งหรือกระบวนการที่ก่อให้เกิดของเสีย (Source Reduction) การใช้ซ้ำของเสีย/วัสดุที่ยังใช้งานได้ (Reuse) การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ก่อนที่จะนําส่วนที่ไม่สามารถนําไปใช้ประโยชน์ใดๆ ได้อีกไปบําบัด (Treatment) และการกําจัดของเสีย (Disposal) อย่างปลอดภัย โดยแบ่งแนวทางการจัดการของเสียออกเป็น
- ขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร จะนำมาฝังกลบเป็นปุ๋ยบำรุงดิน
- วัตถุดิบการเกษตรที่เหลือจากการผลิต จะมอบให้ชาวบ้านนำไปทำเป็นปุ๋ยต่อไป
- ขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก กล่องโฟม และ ขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ จะถูกจัดเก็บเพื่อส่งไปดำเนินการฝังกลบ โดยห้างหุ้นส่วนท้าวบุญเรือง ผู้รับกำจัดขยะที่ได้รับอนุญาต
- ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว จะส่งไปยังผู้รับซื้อเพื่อรีไซเคิลต่อไป
ผลการดำเนินงาน
2566 | 2565 | 2564 | 2563 | 2562 | |
---|---|---|---|---|---|
ขยะอินทรีย์ (ตัน)* | 15.45 | 17.55 | 18.75 | 19.95 | 21.75 |
ขยะทั่วไป (ตัน) | 3.59 | 2.43 | 2.56 | 2.97 | 3.35 |
ขยะรีไซเคิล (ตัน) | 2.65 | 1.17 | 1.00 | 2.20 | 3.80 |
* เฉพาะวัตถุดิบการเกษตรที่เหลือจากการผลิต |