ด้านสังคม

การดำเนินการด้านสังคมเพื่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนขององค์กร แบ่งกิจกรรมการดำเนินการหลักได้ดังนี้

การพัฒนาและดูแลบุคลากร
สิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน
ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
การรับผิดชอบต่อผู้บริโภค
การพัฒนาและสนับสนุนชุมชน

การพัฒนาและดูแลบุคลากร

บริษัทฯ มีนโยบายพัฒนาบุคคลากร โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ พัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการพัฒนาให้บุคลากรมีความก้าวหน้าในสายงานขึ้นไปเรื่อยๆ (Career Path) และมุ่งเน้นการส่งเสริมให้องค์กรสามารถแข่งขันอย่างมีความได้เปรียบในธุรกิจได้

ทั้งนี้ แผนการอบรมและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของบริษัทฯ แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่

  1. การพัฒนาศักยภาพหลักขององค์กร ซึ่งพนักงานทุกคนในองค์กรจะได้รับการเสริมสร้างความรู้หลักในธุรกิจ รับทราบและเข้าใจเป้าหมายและทิศทางขององค์กร ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงขององค์กรในด้านต่างๆ ตลอดจนการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  2. การพัฒนาศักยภาพของพนักงานในแต่ละแผนก ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความรู้ความชำนาญให้แก่พนักงานในแต่ละแผนก โดยส่งเข้าอบรมหลักสูตรเพื่อเพิ่มพูนทักษะที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานนั้นๆ และจัดหาเอกสารและหนังสือที่มีประโยชน์ต่อทักษะความรู้และความชำนาญของพนักงานในแผนกต่างๆ เป็นต้น
  3. พัฒนาศักยภาพภาวะผู้นำ ซึ่งเป็นการมุ่งพัฒนาพนักงานระดับผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อให้รับทราบหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไป และพัฒนาหัวหน้าแผนกขึ้นไปให้มีภาวะผู้นำ มีการทำงานเป็นทีม เพื่อรองรับเป้าหมายของธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ

การปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงานอย่างเป็นธรรม

บริษัทฯ แสดงเจตนารมณ์ในการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจนไว้ในนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนว่า บริษัทฯ เคารพในสิทธิมนุษยชนของพนักงานทุกคน โดยปฏิบัติกับพนักงานทุกคนอย่างให้เกียรติให้ความเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของพนักงานทุกคน และเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานโดยถือเป็นความลับ บริษัทฯ ไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติอันเนื่องด้วยเชื้อชาติ สัญชาติเพศ ศาสนา เพศ อายุความพิการทางร่างกายและจิตใจ และไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติที่ผิดกฎหมายทุกรูปแบบ

ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย

บริษัทฯ มีการกำหนด “นโยบายความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน” และเผยแพร่ให้พนักงานรับทราบ ยึดถือปฏิบัติ ควบคู่ไปกับหน้าที่ประจำของพนักงาน พร้อมทั้งมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับต่างๆ (จป.) คณะกรรมการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า สถานประกอบการที่มีจำนวนพนักงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปจะต้องมีคณะกรรมการความ ปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยคณะทำงานประกอบด้วย ประธานกรรมการจำนวน 1 คน และคณะกรรมการผู้แทนจากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง จำนวน 3 คน เพื่อดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานบริษัทฯ และตามกฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งหมายที่จะเป็นองค์กรปลอดอุบัติเหตุ เป็นสถานประกอบการที่ปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และมีสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขอนามัยของพนักงาน