มังคุด กับแนวคิดภูมิคุ้มกันบำบัด - โพสต์ทูเดย์ 24 มกราคม 2560
มังคุด ตามฤดูกาลในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาเริ่มขาดหายไปจากท้องตลาดอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากภาวะฝนแล้งและการส่งออกที่ตลาดจีนต้องการผลไม้ชนิดนี้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะมังคุดคัดเกรดมีเท่าไหร่ก็ส่งไม่พอ ทำให้คนกินผลไม้ในเมืองไทยที่ไม่สามารถเข้าถึงมังคุดคัดแบบชั้นเยี่ยมได้ ก็ต้องทนกินมังคุดลูกเล็กและจิ๋วกันแทน
เช่นกันในปีนี้ จากภาวการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมังคุดที่สำคัญแหล่งหนึ่ง ทำให้คาดหมายว่ามังคุดจะขาดตลาดและมีราคาแพงขึ้นอย่างแน่นอน
ในฐานะที่ถูกยกย่องและจัดตำแหน่งให้เป็น "ราชินีผลไม้" เพราะมีความงาม มีเนื้อหุ้มเมล็ดเป็นกลีบสีขาวอยู่ภายใต้เปลือกที่สวยงามเรียงตัวรวมกันอยู่ในผล และในเชิงเศรษฐกิจการเกษตรมังคุดที่เป็นผลไม้ที่มีดาษดื่นตามฤดูกาลที่เรียกว่าบางทีแทบจะขายแบบแจก 5 กิโลกรัม 100 บาท ได้ขยับตัวเองไปสู่อีกโหมดหน้าที่ในฐานะผลิตภัณฑ์ทางเวชภัณฑ์และทางการแพทย์อย่างน่าสนใจ ที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือศูนย์วิจัยและพัฒนามังคุดไทย ที่ทำงานมายาวนานถึง 40 ปี และก็มีภาคส่วนอื่นๆ ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับมังคุดอย่างเป็นรูปธรรม
มังคุดมีดีกว่าเป็นผลไม้
ธิดารัตน์ จันทร์ดอน สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนบทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เรื่องมังคุดว่า งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าเนื้อมังคุดมีสารกลุ่มแคทีชินและฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ แต่ฤทธิ์น้อยกว่าเปลือกมังคุด ซึ่งจะพบสารกลุ่มแซนโทน ปัจจุบันมีการพัฒนาน้ำคั้นเนื้อมังคุดผสมเปลือกมังคุด โดยเน้นประโยชน์เรื่องการต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาน้ำมังคุดเข้มข้นให้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงการศึกษาเรื่องความเป็นพิษของการนำเปลือกมังคุดมาใช้สำหรับบริโภค ที่จำเป็นต้องคำนึงถึงขนาดที่ใช้ เนื่องจากมีรายงานความเป็นพิษต่อตับของสารกลุ่มแซนโทนที่พบในเปลือกมังคุด
สำหรับการรับประทานเนื้อมังคุดสด ถึงแม้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพียงเล็กน้อย แต่รสชาติก็หวานอร่อยถูกใจผู้บริโภค อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังในผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
มังคุดยังมีการนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เปลือกมังคุดซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระต้านการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes และ Staphylococcus epidermidis ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและผลิตภัณฑ์รักษาสิว
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษานำเปลือกมังคุดมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ลดกลิ่นปาก เจลและเพสต์สำหรับป้ายปาก เพื่อใช้รักษาโรคปริทันต์และแผลในปาก เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคในช่องปาก และมีการทดลองนำครีมผสมสารสกัดเปลือกมังคุดไปรักษาแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวาน พบว่าได้ผลดี
ในวงการเครื่องสำอางได้ให้ความสนใจนำสารสกัดจากเปลือกมังคุดไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สบู่เปลือกมังคุด ที่ช่วยดับกลิ่นเต่า ช่วยบรรเทาโรคผิวหนัง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาสิว ดังเช่นงานวิจัยของ ผศ.ดร.มัลลิกา ชมนาวัง ที่ได้ทำการวิจัยโครงการสมุนไพรเพื่อใช้รักษาสิว เพื่อมองหาสมุนไพรไทยที่จะสามารถนำมาพัฒนาเป็นยา เพื่อป้องกันและรักษาสิว ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ในนิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 323 เขียนโดย ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร กล่าวว่า สารสกัดเมทานอลและสารจากเปลือกผลมังคุด ช่วยยับยั้งเอนไซม์โพรทีเอส (HIV-1 pro-tease) ซึ่งเป็นเชื้อที่จำเป็นต่อวงจรชีวิตของเชื้อ HIV และสารสกัดน้ำและสารสกัดเมทานอลจากเปลือกผลมังคุด ยังสามารถยับยั้งเอนไซม์รีเวอร์สทรานสคริปเทส (Reverse transcriptase) ในเชื้อเอชไอวีอีกด้วย
ทางเลือกของมังคุดกับมะเร็ง
จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2520 คณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งประกอบด้วย ดร.วิลาวัลย์ มหาบุษราคัม ดร.เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.อำไพ ปั้นทอง รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์สหวิชาการอีกหลายท่านเริ่มทำการศึกษาสารธรรมชาติในมังคุด ด้วยการสกัดสารบริสุทธิ์แล้วทำการทดสอบประโยชน์ในทางการแพทย์ด้านต่างๆ ก่อนจะสรุปได้ว่า สารในมังคุดที่มีคุณสมบัติในการสร้างเสริมสุขภาพ คือ สารกลุ่ม Xanthones ซึ่งในมังคุดมีสารกลุ่ม Xanthones นี้อยู่กว่า 40 ชนิด แต่มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่มีประโยชน์ บางชนิดอาจมีผลข้างเคียงได้ และชนิดที่มีประโยชน์ หากใช้น้อยเกินไปก็จะไม่แสดงสรรพคุณ แต่ถ้าใช้มากไปก็อาจจะเกิดโทษได้ ดังนั้นการนำ Xanthones ไปใช้ในการเสริมสร้างสุขภาพ จึงจำเป็นต้องใช้ให้ถูกต้องและใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น
ผลจากการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องของคณะนักวิจัยจากศูนย์วิจัยและพัฒนามังคุดไทยพบว่า Xanthones ที่มีสรรพคุณสูงสุด คือ GM-1 ซึ่ง GM-1 เป็นสารที่ปลอดภัย โดยปลอดภัยกว่าสารที่ให้รสเปรี้ยวในส้มถึง 5 เท่า และมีคุณสมบัติคือ 1.ต้านเชื้อแบคทีเรีย 2.ต้านการอักเสบ 3.ระงับการปวดและลดอาการแพ้ 4.ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งเกิดจาก LDL Cholesterol Oxidation และ 5.ฆ่าเซลล์มะเร็งในเต้านม มะเร็งในเม็ดเลือด มะเร็งในตับ มะเร็งในไต มะเร็งในทางเดินอาหาร และมะเร็งในปอด 6.ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อวัณโรค 7.ระงับการขยายตัวของเชื้อเอชไอวี 8.เพิ่มความสามารถของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม และเชื้อแบคทีเรีย (Phagocytic activity) 9.ระงับการเสื่อมสลายของกระดูกอ่อนและสร้างมวลกระดูก
การสัมมนาวิชาการ "40 ปี นวัตกรรมมังคุดไทย 4.0" ในงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 42 (วทท 42) ของคณะนักวิทยาศาสตร์ไทย Operation BIM จากศูนย์วิจัยและพัฒนามังคุดไทย ที่วิจัยและค้นคว้าการใช้ประโยชน์จากมังคุดและพืชไทยเพื่อดูแลสุขภาพมากว่า 40 ปี โดยได้ทำการค้นคว้าวิจัย และได้ผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ว่าสารสกัดจากมังคุดมีประโยชน์อย่างมากในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง เบาหวาน ข้อเข่า และดวงตา โดยการทำงานจะกระตุ้นเม็ดเลือดขาวและสร้างภูมิคุ้มกันให้สมดุลเรียกว่า แนวคิด "ภูมิคุ้มกันบำบัด" ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลับมามีชีวิตปกติได้ด้วยนวัตกรรมมังคุด
ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา หัวหน้าคณะนักวิจัย Operation BIM ศูนย์วิจัยและพัฒนามังคุดไทย ซึ่งได้วิจัยเรื่องมังคุดมาตลอด 40 ปี บอกว่าปัจจุบันทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 8.2 ล้านคน/ปี ซึ่งในจำนวนนี้ 4 ล้านคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยอายุระหว่าง 30-69 ปี สะท้อนถึงแนวโน้มการเกิดโรคมากขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงาน เนื่องมาจากวิถีการดำเนินชีวิตยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต
ด้านสถานการณ์โรคมะเร็งในไทยยังรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า มะเร็งยังเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทยต่อเนื่องมานานกว่า 13 ปี นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ล่าสุดในปี 2556 มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้ถึงปีละกว่า 6.7 หมื่นคน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และพบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยราว 1.2 แสนคน/ปี และ 5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในชายไทยคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่วนมะเร็งยอดฮิตในกลุ่มหญิงไทย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่
คนเรามีเม็ดเลือดขาวอยู่ประมาณ 2-5.5 หมื่นล้านเม็ด ถือเป็นกองทัพที่ยิ่งใหญ่มากที่ธรรมชาติสร้างขึ้นให้เรา เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมเพียงพอที่จะต่อกรและเอาชนะโรคภัยได้ จุดนี้เองทำให้ ศ.ดร.พิเชษฐ์ เห็นว่าการสร้างภูมิคุ้มกันให้สมดุลมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพิชิตไวรัสและโรคร้ายต่างๆ จนเป็นที่มาของการศึกษาค้นคว้านานกว่า 38 ปี พัฒนาสารสกัดจากพืชไทย 5 ชนิด "APCOcap" ได้แก่ มังคุด ถั่วเหลือง งาดำ ฝรั่ง และบัวบก ซึ่งเมื่อออกฤทธิ์เสริมกันจะมีผลทำให้เพิ่มระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายให้กลับสู่ภาวะสมดุล ศ.ดร.พิเชษฐ์ บอกว่า
"งานวิจัยนี้นับว่าเป็นมิติใหม่ของการดูแลสุขภาพที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ที่เป็นมะเร็งกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติและมีสุขภาพแข็งแรงขึ้นอย่างยั่งยืน โดยนวัตกรรม APCOcap จะทำหน้าที่เสมือนเป็นวัคซีนธรรมชาติกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิด Th1, Th17 และ Th9 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็ดเลือดขาวชนิด Th17 ถูกกระตุ้นเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายของเรากลับเข้าสู่ภาวะสมดุลจนสามารถรับมือกับโรคได้เอง"
แน่นอน มีกรณีศึกษาที่ ศ.ดร.พิเชษฐ์ ยกมาคือ เมื่อเกือบ 5 ปีที่แล้ว สุภัสสรา เอมเอก พยาบาลวัย 51 ปี ต้องผ่านชีวิตแต่ละวันด้วยความทุกข์ทรมาน หลังจากพบว่าป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 4 อีกทั้งเซลล์ร้ายยังแพร่กระจายไปกัดกินกระดูกขาขาดจนเดินไม่ได้ เธอบอกว่า
"หมอให้รักษาด้วยเคมีบำบัดไป 8 คอร์ส ช่วงนั้นทรมานมากจากผลข้างเคียง ทั้งผมร่วง อ่อนเพลียไม่มีแรง น้ำหนักลดเพราะทานไม่ลง ยิ่งมะเร็งลามไปที่ขาก็ต้องผ่าตัดเพิ่มอีกหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ จะเดินก็ต้องใช้ไม้ค้ำยัน แต่ยิ่งเดินก็ยิ่งปวด ทรมานมาก คิดว่าคงต้องเป็นอย่างนี้ไปตลอด"
จากการที่เธอได้รับสารสกัดจากพืชไทย 5 ชนิด APCOcap ถึงวันนี้ผลการตรวจติดตามผลระบุว่าเธอปลอดจากเซลล์มะเร็งแล้ว สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติเหมือนคนทั่วไปและเดินได้เหมือนเดิมแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ ศ.ดร.พิเชษฐ์ บอกว่า
"สุขภาพดีเราเลือกได้ สำคัญอยู่ที่วินัยการดูแลตัวเอง เพราะมะเร็งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทาน การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกหนีความเสี่ยงต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดโรค และไม่ควรละเลยตรวจร่างกายเป็นประจำ ถือเป็นการเตรียมตัวรับมือกับมะเร็งที่ดีที่สุดแล้ว"
แน่นอน กรณีนี้เป็นแค่อีกทางเลือกหนึ่งในการใช้สารสกัดมังคุดมาผสมกับสารสกัดจากพืชผักของไทยอีก 4 ชนิดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านมะเร็ง และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะใช้มังคุดในการรับมือและต่อต้านมะเร็งชนิดต่างๆ
ที่มา : เว็บไซต์ โพสต์ทูเดย์