HIV เชื้อร้ายในอดีตที่ทุกคนรังเกียจ สู่การใช้ชีวิตอย่างปกติได้ในปัจจุบัน
ประมาณปี 2534-2539 ยุคแรกเริ่มที่ HIV ระบาด ใครที่ได้รับเชื้อนี้เข้าใจได้ทันทีว่าต้องมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ถูกสังคมรังเกียจ และเสียชีวิตอย่างทรมาน ด้วยความรู้ความเข้าใจต่อเชื้อ HIV ในสมัยนั้นค่อนข้างน้อย การรักษายังไม่ทันสมัยเท่าปัจจุบัน ส่งผลให้เชื้อร้ายนี้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว มีคนล้มตายไปเป็นจำนวนมาก ที่ร้ายไปกว่านั้นมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องรับเชื้อมาจากพ่อแม่อย่างไม่ตั้งใจ เมื่อพ่อแม่ตายก็ไม่มีญาติที่สมัครใจรับเลี้ยงเพราะกลัวว่าจะติดเชื้อร้ายนี้ไปด้วย
ในปี 2544 คาร์ล มอร์สบัค ชาวเยอรมันที่สนใจปัญหาเกี่ยวกับโรคเอดส์ และเด็กกำพร้าที่ติดเชื้อ HIV เริ่มสร้างบ้านแกร์ด้าหลังแรกด้วยเงินส่วนตัว โดยวัตถุประสงค์แรกเพื่อให้เป็นที่พักแก่เด็ก ๆ ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ให้เขาได้เสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และเมื่อพบว่าปัญหาเด็กติดเชื้อ HIV มีมากขึ้นจึงได้ขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ ระดมทุนเพื่อทำโครงการบ้านแกร์ด้าต่อไป แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป การแพทย์ก้าวหน้าขึ้น บ้านแกร์ด้าจึงไม่ใช่ที่สำหรับรอวันตายอีกต่อไปแต่เป็นที่สำหรับการมีชีวิตอยู่
บ้านแกร์ด้าเป็นโครงการของมูลนิธิสิทธิเด็กซึ่งเป็นองค์การการกุศลไม่แสวงหากำไร ปัจจุบันมีเด็กที่ได้รับการดูแลที่บ้านแกร์ด้า 53 คน มีเด็กที่อาศัยอยู่กับญาติแต่อยู่ในความดูแลของบ้านแกร์ด้า 32 คน และมีเด็กที่สามารถออกไปใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองแล้วกว่า 50 คน ที่ผ่านมามีเด็กและผู้ใหญ่ที่ผ่านการดูแลจากบ้านแกร์ด้ารวมทั้งหมด 150 คน
คุณขวัญใจ สารสว่าง เลขาธิการมูลนิธิสิทธิเด็กบ้านแกร์ด้า
คุณขวัญใจ สารสว่าง เลขาธิการมูลนิธิสิทธิเด็กบ้านแกร์ด้า เล่าว่า การดูแลเด็กกำพร้าที่ติดเชื้อ HIV ของเราอาจจะแตกต่างจากบ้านเด็กกำพร้าอื่น ๆ บ้านแกร์ด้าเป็นองค์กรเดียวในประเทศไทยที่ใช้การดูแลเด็กกำพร้าแบบระบบ “ครอบครัว” เพราะมีความเชื่อว่าระบบครอบครัวจะช่วยให้เด็ก ๆ มีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจเราจึงพยายามสร้างครอบครัวใหม่ให้กับเด็ก ๆ และพยายามให้พวกเขามีชีวิตใกล้เคียงเด็กปกติให้มากที่สุด
แต่ในความโชคร้ายก็มีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้น เมื่อยาต้านไวรัสเอชไอวีมีราคาถูกลง และมีกำลังพอที่จัดหามาให้เด็ก ๆ ได้ โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากผู้บริจาคหลายรายจนทำให้บ้านแกร์ด้าสามารถที่จะให้ยา และการดูแลแก่เด็ก ๆ ในระยะยาวได้
นอกจากยาต้านและเงินบริจาคแล้ว ปัจจุบันบ้านแกร์ด้าได้รับความกรุณาจากคณะนักวิจัยคนไทยที่คิดค้นงานวิจัยสำหรับผู้ติดเชื้อ HIV สนับสนุนงานวิจัยที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายทุกเดือน ทำให้เด็กในบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
คณะนักวิจัยดังกล่าวนำโดย ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา หัวหน้าคณะนักวิจัย Operation BIM เล่าว่า เราได้มารู้จักกับบ้านแกร์ด้าในปี 2554 เด็กที่นั่นเริ่มมีชีวิตที่ดีขึ้นบ้างจากการได้รับยาต้าน และเราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เด็ก ๆ ในบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เริ่มแรกเราเข้าไปดูแลเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดก่อน 17 คน จาก 70 กว่าคนที่อยู่ในบ้าน
ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา
อาการของแต่ละคนนั้นมีตั้งแต่เริ่มติดเชื้อรา แบคทีเรีย ไปจนถึงขั้นเป็นมะเร็ง หลังจากรับการดูแลด้วยงานวิจัย Operation BIM ไป 2-3 เดือนทุกคนเริ่มมีอาการที่ดีขึ้น รวมทั้งคนที่เป็นมะเร็งตับระยะลุกลามซึ่งอาการค่อนข้างหนัก ระหว่างนี้เราได้ตรวจเลือดวัดระดับภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า CD4 อย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งครบ 1 ปี ผลการตรวจ CD4 ของทุกคนเพิ่มขึ้นในระดับที่น่าพอใจ ทุกคนมีหน้าตาที่สดใส และมีผิวพรรณที่ดีขึ้น โดยเฉพาะคนที่เป็นมะเร็งตับ ซึ่งตอนนี้มีสุขภาพแข็งแรงเกินกว่า 4 ปี สามารถออกไปทำอาชีพของตัวเองได้ หลังจากนั้น บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APCO ซึ่งเป็นเจ้าของนวัตกรรมก็ได้สนับสนุนงานวิจัยให้แก่เด็กทุกคนในบ้านทุกเดือนจนถึงปัจจุบัน และได้สัญญากับเด็ก ๆ ว่าจะให้เขาได้ใช้งานวิจัยของเราฟรีตลอดไป เพื่อให้เขาโตขึ้นด้วยสุขภาพที่ดี และเป็นกำลังของสังคมเช่นคนปกติทั่วไป
งานวิจัยฯที่เราเข้าไปสนับสนุนนั้น มีส่วนช่วยในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย เพิ่มความสมดุลของเม็ดเลือดภูมิคุ้มกัน (CD4) ขณะที่ยาต้านจะออกฤทธิ์ยับยั้งการแพร่เชื้อไวรัส HIV ให้ลดน้อยลงได้ และช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T Cell
คณะนักวิจัยของเรามีการค้นคว้างานวิจัยสำหรับผู้ติดเชื้อมาเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปี จากสารเสริมประสิทธิภาพจากมังคุด งาดำ ถั่วเหลือง ฝรั่ง และใบบัวบก โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ประกาศให้งานวิจัยของเราเป็น “นวัตกรรมของชาติไทย ในการดูแลผู้มีปัญหาการติดเชื้อ”
คุณขวัญใจ จากบ้านแกร์ด้า และคณะนักวิจัย Operation BIM มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ช่วยกันประคับประคองเด็กที่ติดเชื้อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคม ได้รับโอกาสในการทำงานให้พวกเขาได้มีความภูมิใจในตัวเอง มีอาชีพและมีสังคมเช่นเดียวกับคนทั่วไป
ที่มา : Manager Online : mgronline.com/qol/detail/9610000055333